ร่วมพูดคุยกับนักวิชาการไทยในหัวข้อ “อนาคตของการผลักดันการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ความเป็นสากล”

ในช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้ เป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะโรคระบาด ผู้เล่นสำคัญในภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทย มหาวิทยาลัย ชุมชน และพันธมิตรระหว่างประเทศ ล้วนถูกกดดันให้ต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถอยู่รอดในยุคของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อรูปแบบการเรียนรู้ การทำงานและการใช้ชีวิต

บริติช เคานซิลได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจากมหาวิทยาลัยไทยจากทั่วประเทศ 4 แห่ง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เข้าร่วมโปรแกรมที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมสนับสนุนภาคการอุดมศึกษาตลอดหลายปีที่ผ่านมา การพูดคุยกันครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ในมุมมองของแต่ละท่าน ทั้งในมุมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 หน้าตาของอนาคตของภาคอุดมศึกษา และทิศทางการผลักดันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยสู่ความเป็นสากลหลังโควิด-19 

"มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะใหม่ๆให้กับนักศึกษา เช่นความรู้ด้านดิจิตอล ธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างการสื่อสารในบริบทออนไลน์ ซึ่งจำเป็นมากในปัจจุบันและจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต"

ดร.พรนภิส ดาราสว่าง - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 

คำถาม: การพัฒนาสู่ความเป็นสากลในช่วงหลังโควิด-19 จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน

ดร.พรนภิส (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี): ดิฉันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ทำงานด้านนโยบายการพัฒนาสู่ความเป็นสากล เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในที่ประชุม มีการเสนอให้มีการผลักดัน “การสร้างความเป็นสากลจากบ้าน (Internationalisation at Home)” ที่จะช่วยให้ขยายโอกาสให้คนเข้าถึงการพัฒนาสู่ความเป็นสากลและร่วมกันสร้างความเป็นพลเมืองโลก ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้กิจกรรมในรูปแบบที่ต้องมาเจอกัน ซึ่งรวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงาน ต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนมกราคมปี 2564 โดยที่กิจกรรมบางส่วนก็ถูกทดแทนด้วยกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ 

จากที่ประเมิน โครงการแลกเปลี่ยนต่างๆจะยังคงอยู่หลังโควิด-19 แต่ความท้าทายสำคัญในมุมของมหาวิทยาลัยคือ การรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มหาวิทยาลัยควรกระตุ้นให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในทุกมิติซึ่งรวมถึงด้านภาษาและวัฒนธรรม โครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วม (Transnational Education Programme หรือ TNE) จำเป็นจะต้องมีการปรับโฉมเพื่อให้ยืดหยุ่นและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในทุกรูปแบบ

ดร.นิธินันท์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์): วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กำลังจะเริ่มสอนหลักสูตรปริญญาร่วม (double-degree course) ในสาขาไทยศึกษากับมหาวิทยาลัย SOAS ในเดือนสิงหาคม 2563 นี้ โดยตัดสินใจว่าภาคเรียนที่ 1 นี้จะเป็นการเรียนในรูปแบบออนไลน์ และโอกาสที่จะเกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2564  

จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วม โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร ระบบมหาวิทยาลัย รวมไปถึงกรอบแนวคิดของคน เพื่อให้พร้อมรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้น การเรียนการสอนต้องตอบรับกับแนวโน้มใหม่ๆ เช่น การเรียนรู้เฉพาะบุคคล ซึ่งจะทำให้บรรลุผลลัพธ์ตามที่คาดหวังได้ต่อเมื่อเรามีแพลตฟอร์มดิจิตอลที่มีความยืดหยุ่นและเชื่อถือได้

ถ้ามองในแง่ดี วิกฤติครั้งนี้ทำให้เราเห็นโอกาสบางอย่าง การใช้กลยุทธ์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในช่วงที่มีโรคระบาดช่วยลดกำแพงในการเชื่อมต่อกับคนในเครือข่ายระหว่างประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยไทยสามารถไปร่วมแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์ได้ 

ดร.จิตติมา (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์): วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดทำโครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วม (หลักสูตรปริญญาร่วมสาขาการจัดการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการและสุขภาพระหว่างประเทศ) ร่วมกับมหาวิทยาลัย Coventry แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โควิด-19 ทำให้เราไม่สามารถรับนักศึกษาต่างชาติกลุ่มใหม่เข้ามาเรียนได้ในปีนี้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการรับสมัครไปเป็นปีหน้า 

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็ยังคงมองโครงการแลกเปลี่ยนและโครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วมเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความเป็นสากล เพราะปัจจุบันผู้เรียนมีความต้องการทางเลือกของการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (blended learning) ภายหลังโควิด-19 แนวโน้มของความต้องการโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาน่าจะสูงขึ้น เนื่องจากคนยังสนใจการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมในบริบทสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ 

ดร.ดวงธิดา (มหาวิทยาลัยกรุงเทพ): มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมคนให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ การใช้ฐานข้อมูลและกลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนับว่ามีความสำคัญมากในการจัดการวิกฤติ โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการระบาดรุนแรง หลักสูตรภาคฤดูร้อนนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งมีความท้าทายตั้งแต่เรื่องความแตกต่างของเวลาของนักศึกษาต่างชาติในประเทศต่างๆ ไปจนถึงว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถรักษามาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงให้กับทุกคน โจทย์ที่ยากขึ้นไปอีกคือ การทำให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงประสบการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมผ่านห้องเรียนออนไลน์ แทนการพบปะกันในรูปแบบเดิม

คำถาม: โควิด-19 ส่งผลกระทบต่องบประมาณสนับสนุนการสอน การวิจัย และโครงการแลกเปลี่ยนอย่างไร

ดร.พรนภิส: สำหรับที่มหาวิทยาลัย งบประมาณด้านการสอนได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ข้ามคณะเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ ในส่วนของทุนวิจัยก็เช่นกัน 

ดร.นิธินันท์: การให้ทุนวิจัยและการเข้าถึงงบประมาณวิจัยยังคงเป็นไปตามเดิม มีการเพิ่มงบประมาณส่วนการสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะกับพันธมิตรที่มีอยู่เดิม โดยเป็นการผันงบประมาณจากงบค่าเดินทางที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ และบทบาทของสถาบันมุ่งเน้นเกี่ยวกับงานในสาขาวิชาสังคมศาสตร์ งานวิจัยในสาขานี้จึงดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ง่ายกว่าแม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปรียบเทียบกับงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยการเข้าไปทำงานในห้องแล็บ

ดร.จิตติมา: โควิด-19 ทำให้เราเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งบประมาณของมหาวิทยาลัยส่วนที่เตรียมไว้สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนถูกจัดสรรมาใช้เพื่อลงทุนในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์

ดร.ดวงธิดา: งบประมาณภาพรวมของมหาวิทยาลัยไม่ได้ถูกปรับลดลง ตรงกันข้าม มีการเพิ่มงบประมาณสำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์และการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสอน 

คำถาม: สถาบันของคุณพร้อมที่จะปรับตัวสู่ความเป็นดิจิตอลมากน้อยแค่ไหน 

ดร.พรนภิส: โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิรูปการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แม้จะเป็นความท้าทายสำหรับผู้สอนในการจัดห้องเรียนแบบออนไลน์ โดยเฉพาะในส่วนของการเรียนการสอนและการทำงานในแล็บ มหาวิทยาลัยจึงมีการจัดอบรมให้กับอาจารย์เพื่อช่วยเหลือในแง่ของการเสริมสร้างศักยภาพการสอนแบบออนไลน์ เช่นการออกแบบการให้งานแก่นักศึกษาในรูปแบบใหม่ ที่เหมาะกับบริบทออนไลน์ 

ดร.นิธินันท์: ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความท้าทายในการย้ายการเรียนการสอนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ โดยเฉพาะการที่ผู้สอนไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการสอนออนไลน์ ขาดความรู้ด้านไอทีในการสอนในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งรวมถึงวิธีการประเมินการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา มหาวิทยาลัยสามารถให้การสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้สอนได้ ขณะที่การพัฒนากรอบแนวคิดที่ถูกต้องให้กับผู้สอนก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีการปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์แล้วกว่า 60% 

คำถาม: มหาวิทยาลัยจะเตรียมความพร้อมบัณฑิตสู่อนาคตได้อย่างไร  

ดร.ดวงธิดา: เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาสำหรับการออกไปทำงานในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับบริษัทจัดทำโปรแกรมฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบออนไลน์ โดยมหาวิทยาลัยพยายามอย่างมากที่จะทำให้นักศึกษามั่นใจว่า จะได้รับประโยชน์จากการฝึกงานและการทำโปรเจ็คในรูปแบบออนไลน์นี้ มีการจัดช่วงพิเศษที่เปิดให้มีการพูดคุยกับบริษัทที่เป็นพันธมิตรของมหาวิทยาลัย เพื่อหาข้อตกลงเรื่องบทบาทในการทำงานและหน่วยกิตที่จะได้จากการเข้าร่วม 

ดร.พรนภิส: มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะใหม่ๆให้กับนักศึกษา เช่นความรู้ด้านดิจิตอล ธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างการสื่อสารในบริบทออนไลน์ ซึ่งจำเป็นมากในปัจจุบันและจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต  

ดร.นิธินันท์: การเรียนการสอนออนไลน์ไม่สามารถชดเชยปฏิสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมที่มีความแตกต่างกันแต่ละประเทศได้ ทักษะในการส่งเสริมความร่วมมือจะเป็นทักษะใหม่ที่จำเป็นในการสร้างเครือข่ายและลดช่องว่างระหว่างวัย มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบโครงการฝึกงานให้ตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนไปนี้ของตลาดแรงงาน

คำถาม: มหาวิทยาลัยเข้าไปมีบทบาทกับชุมชนอย่างไร

ดร.นิธินันท์: ก่อนโควิด-19 อาจารย์และนักศึกษามักจะเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชน ยกตัวอย่างเช่น ไปสอนภาษาให้กับชุมชนเพื่อให้สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ และปัจจุบันก็ยังมีการดำเนินการอยู่แต่ปรับเป็นรูปแบบออนไลน์แทน

บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในตอนนี้คือ การทำให้บุคลากรและนักศึกษาที่ทำงานกับชุมชนรู้สึกได้รับการสนับสนุนจากสถาบัน มหาวิทยาลัยกำลังมองหาแหล่งเผยแพร่ความรู้ที่จะช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าถึงองค์ความรู้ ในฐานะเป็นความรับผิดชอบสำคัญในการให้การสนับสนุนชุมชนอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในช่วงหลังโควิด-19 ก็ตาม

 

ความคิดเห็นจากบริติช เคานซิล 

ความต้องการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ – ในช่วงวิกฤติ สถาบันอุดมศึกษาของไทยก็ยังคงกระตือรือล้นในการหาและสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศ ทั้งที่มีอยู่เดิมและการหาพันธมิตรใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่ความเป็นสากลของตน ภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาสู่ความเป็นสากล โครงการแลกเปลี่ยนและโครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วมยังคงเป็นวิธีการหลักที่สถาบันต่างๆใช้เพื่อสร้างการเป็นที่รู้จักในระดับระหว่างประเทศ เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ความต้องการโครงการแลกเปลี่ยนและโครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วมจะเพิ่มสูงขึ้น แต่จำเป็นจะต้องมีการปรับรูปแบบให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นเช่นกัน  

การจัดลำดับความสำคัญในสายตาของสถาบันอุดมศึกษาไทย – ในช่วงที่โรคระบาดกำลังก่อตัว รายได้และเงินสนับสนุนของมหาวิทยาลัยมีการปรับรูปแบบไป บางมหาวิทยาลัยเผชิญกับวิกฤติรายได้ที่ลดลงอันเนื่องมาจากการลดลงของจำนวนนักศึกษาในแต่ละหลักสูตร อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็กำลังพยายามอย่างเต็มความสามารถในการจัดการงบประมาณที่มีอยู่ โดยมีการจัดลำดับความสำคัญให้กับการเรียนการสอนออนไลน์ในระดับสูงสุด ขณะที่โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศได้รับความสำคัญต่ำที่สุด เงินสนับสนุนความร่วมมือด้านวิจัยยังคงเป็นไปตามเดิมทั้งช่วงระหว่างและหลังโควิด-19 กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการต้องการการพัฒนาศักยภาพและการพัฒนาความสามารถในการสอนออนไลน์ รวมถึงการปรับกรอบแนวคิดให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของสถาบันอุดมศึกษาที่กำลังเปลี่ยนแปลง

 

เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษา และโครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วม

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษา และโครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วม สามารถติดตามได้จาก โครงการสนับสนุนความร่วมมือระดับอุดมศึกษา

 

เหล่าคณาจารย์ร่วมพูดคุย 

ขอขอบคุณอาจารย์ผู้แทนมหาวิทยาลัยไทยที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทยและสหราชอาณาจักร และโครงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาร่วมของบริติช เคานซิล ที่ผ่านมา

  • ดร.ดวงธิดา นันทาภิรัตน์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทำงานกับมหาวิทยาลัย Coventry ในการจัดทำหลักสูตรปริญญาร่วมด้านการจัดการการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ 
  • ดร.จิตติมา ศังขมณี คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ผลักดันการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการกับการทำงาน (work-integrated learning) ในหลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ และสุขภาพระหว่างประเทศ ร่วมกับมหาวิทยาลัย Coventry 
  • ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานร่วมกับ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน ในหลักสูตรปริญญาตรีไทยศึกษา และหลักสูตรปริญญาตรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
  • ดร.พรนภิส ดาราสว่าง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย Reading ในหลักสูตรปริญญาตรีด้านจุลชีววิทยาและชีวเคมี