สรุปความจากอภิปราย
การอภิปรายหัวข้อ “การคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อวางแผนและเตรียมตัวสำหรับอนาคต” ดำเนินการอภิปรายโดย คุณ แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย และวิทยากรร่วมอภิปราย 3 ท่าน ได้แก่ ดร. เคนิชา การ์เนต อาจารย์สาขายุทธศาสตร์การตัดสินใจ, นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญการคาดการณ์ล่วงหน้าเชิงยุทธศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมและการเกษตร มหาวิทยาลัยแคนฟิลด์ ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NASTDA) และ ประธานกรรมการบริหารโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร
ดร. เคนิชา กล่าวว่าคาดการณ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการย้อนวิเคราะห์อดีตเพื่อใช้เป็นฐานคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดในอนาคต ในการคาดการณ์ล่วงหน้าต้องทำเอกสารติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างสม่ำเสมอ แต่เอกสารการคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ใช่เอกสารหรือเครื่องมือที่คงที่ตายตัว จำเป็นต้องกลับมาปรับปรุงและแก้ไขข้อมูลอยู่เสมอ การคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นกระบวนการโดยผู้รับผิดชอบหลักมักจะเป็นคนที่จะได้ประโยชน์จากผลของการคาดการณ์เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจหรือการกำหนดนโยบาย ขอบข่ายในกระบวนการคาดการณ์ล่วงหน้า ควรคำนึงให้ครอบคลุมผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทั้งหมด
ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยต้องพิจารณาชุดทักษะที่จำเป็นสำหรับบัณฑิตในรุ่นต่างๆ และต้องประเมินว่าบัณฑิตมีทักษะเพียงพอต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตัลในภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ การคาดการณ์ล่วงหน้าจะเป็นปัจจัยสร้างความยั่งยืนเพราะนักศึกษามีทักษะที่จะสามารถทำงานอย่างเหมาะสมและสามารถคิดวิเคราะห์ตามความจำเป็นในธุรกิจ ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆดำเนินต่อไปได้
เมื่อเทียบกับเครื่องมือการวิเคราะห์แบบดั้งเดิม การคาดการณ์ล่วงหน้าวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในอนาคตหลายรูปแบบซึ่งท้าทายวิธีคิดแบบเดิมและต้องคิดวิเคราะห์มากขึ้น แต่การคาดการณ์ล่วงหน้ามีข้อจำกัดเช่นกันโดยเฉพาะหากมองจากแง่การยึดหลักฐานเป็นสำคัญหรือการวิเคราะห์เพื่อใช้ในการตัดสินใจหรือกำหนดนโยบาย แต่นี่จะเป็นโอกาสของการหารือเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ อธิบายสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในกระบวนการคาดการณ์ล่วงหน้า เช่น ทรัพยากรที่จำกัดจากรัฐบาล ต้องวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และมีแผนการดำเนินงาน ในภาคการศึกษามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากมหาวิทยาลัยกลุ่มต่างๆโดยให้ความสำคัญกับความท้าทายในอนาคตและวัตถุประสงค์ของแต่ละมหาวิทยาลัย แม้กระบวนการคาดการณ์ล่วงหน้ายังเป็นเรื่องใหม่ แต่มหาวิทยาลัยในไทยจำเป็นต้องพึ่งตนเองมากขึ้น, สร้างภูมิคุ้มกัน, มีความแข็งแกร่ง และสามารถกลับมาดำเนินงานตามปกติได้หากเกิดวิกฤต มหาวิทยาลัยในไทยจึงต้องเพิ่มทักษะ (upskill), ปรับทักษะ (reskill), สร้างความรู้ด้านดิจิตัลและความสามารถใช้ภาษาอังกฤษให้แก่บัณฑิตเพื่อเตรียมรับอนาคต
ผศ.ดร.อัครวิทย์ เสริมจากที่วิทยากรทั้งสองท่านกล่าวถึงการสร้างทักษะนักศึกษา (skillset) นอกจากชุดทักษะแล้ว มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) ยอมรับการใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางการให้ความรู้นักศึกษา อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ดีกว่าเครื่องมืออื่นแต่การคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นเครื่องมือที่สร้างความยืดหยุ่นและความคล่องตัวให้หน่วยงาน ผศ.ดร.อัครวิทย์ให้ความเห็นว่า มหาวิทยาลัยสามารถมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในแง่การสร้างบุคลากร, สร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นทุนในอนาคต, สร้างศักยภาพให้ประเทศ แต่มหาวิทยาลัยไม่สามารถสร้างบุคลากรด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมอีกต่อไปในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศไทย
เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษา
บริติชเคานซิลร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาโครงการความร่วมมือการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย - สหราชอาณาจักร (Thai-UK Higher Education Partnerships Project หรือ HEP) โครงการความร่วมมือดังกล่าวนำสถาบันทั้งไทยและสหราชอาณาจักรมาร่วมกันและอำนวยความสะดวกต่างๆในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งรวมไปถึงนักวิจัย นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจการระหว่างประเทศเกี่ยวกับกระบวนการสากล สิ่งนี้จะเป็นการปูทางในการอำนวยสภาพแวดล้อมที่ให้การสนับสนุนสถาบันไทยและสหราชอาณาจักรในการสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน โครงการนี้จะสร้างช่องทางสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรและการสร้างเครือข่ายผ่านเวทีเสวนาที่มองไปถึงปัญหาที่สถาบันระดับอุดมศึกษาต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาจะเป็นตัวกระตุ้นและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันไทยและสหราชอาณาจักรและเพิ่มความเป็นสากลของสถาบันอุดมศึกษาทั้งไทยและสหราชอาณาจักร รวมไปถึงเสริมสร้างขีดความสามารถในการเป็นผู้นำในสถาบันการศึกษาของไทย นักวิชาการ นักวิจัย และนักเรียน