เคยคิดไหมว่าเสื้อผ้าที่เราใส่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก มาร่วมกันเรียนรู้เกี่ยวกับ5 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับแฟชั่นยั่งยืนให้สามารถช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อตัวเราเองและคนรุ่นต่อๆไป
1.แฟชั่นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร
แฟชั่นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุตสาหกรรมสิ่งทอสร้างมลพิษต่อน้ำจืดเป็นลำดับที่สองของโลก และยังผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1.2 พันล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าการบินระหว่างประเทศและการขนส่งทางทะเล (Nature) ผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยิ่งไปกว่านั้นเสื้อผ้าที่ย่อยสลายในหลุมฝังกลบจะปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตราย
จากที่เห็น อุตสาหกรรมแฟชั่นส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพอากาศของเรามากกว่าที่เราคิด มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยมลพิษทั่วโลกประมาณ ร้อยละ 10% (European Parliament) แต่แฟชั่นเป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกและเปลี่ยนแปลงได้โดยการ ซื้อเสื้อผ้าน้อยลง หรือการเลือกแบรนด์ที่ยั่งยืนมากขึ้น
ที่มา:
https://www.nature.com/articles/s41558-017-0058-9
https://www.europarl.europa.eu/news/en/headlines/society/20201208STO9332...
2.แฟชั่นที่ยั่งยืนคืออะไร
กระแสแฟชั่นในปัจจุบันเรียกว่าฟาสแฟชั่น (Fast Fashion) ที่ใช้เสื้อผ้าและวัตถุดิบราคาถูก ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม 'ใช้แล้วทิ้ง' ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนไปใช้แฟชั่นที่ยั่งยืนหรือแฟชั่นเนิบช้า (Slow Fashion) ที่คำนึงถึงการออกแบบ การผลิต การจัดจำหน่าย และการใช้เสื้อผ้าอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำลังกลายเป็นกระแสระดับโลก ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ช้าลง การเคารพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนความยั่งยืน
3.เราจะทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนแฟชั่นที่ยั่งยืน
แฟชั่นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเสื้อผ้าแต่เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงตัวตน
การแต่งตัวของคุณบอกอะไรเกี่ยวกับมุมมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคุณ?
การซื้อเสื้อผ้ามือสอง การเปลี่ยนขยะจากเสื้อผ้าให้เป็นสิ่งใหม่ และการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ คือตัวอย่างบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถ 'นำกลับมาใช้ใหม่ - รีไซเคิล - อัพไซเคิล' (Reuse-Recycle-Upcycle) ได้
ในขณะที่เรามีส่วนร่วมในการลดขยะแฟชั่น หลายแบรนด์ก็เริ่มนำนวัตกรรมมาใช้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น Zero-Waste Design หรือการออกแบบให้เหลือเศษผ้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย นาโนเทคโนโลยี หรือการใช้อนุภาคขนาดนาโนเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของผ้าเพื่อการใช้งานและความทนทานที่มากขึ้น และการใช้เส้นใยและสีย้อม ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและเส้นใยนวัตกรรมที่ผลิตจากของเสีย
4.ทำความรู้จักช่างฝีมือแฟชั่นไทยยั่งยืน
หลายแบรนด์เริ่มหันมาใช้การผลิตและใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราได้สนับสนุนความยั่งยืนโดยการพัฒนาและสนับสนุนช่างฝีมือและเครือข่ายหัตถกรรมทั่วประเทศไทยเพื่อสร้างงานหัตถกรรมแบบยั่งยืน นอกจากนี้เรายังทำงานร่วมกับ Fashion Revolution องค์กรการกุศลระดับโลกที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมแฟชั่น
นี่คือช่างฝีมือส่วนหนึ่งที่เราทำงานด้วย:
- ภูคราม – ก่อตั้งโดย คุณปิลันธน์ ไทยสรวง ภูครามใช้ผ้าฝ้ายย้อมครามและปักมือจากอำเภอภูพาน จังหวัด สกลนคร ธุรกิจของคุณปิลันธน์ยังช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้หญิงในท้องถิ่นอีกด้วย
- วานีตา - เป็นโครงการพัฒนางานฝีมือสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยภายใต้เครือข่ายวานีตา ผลิตภัณฑ์ของวานีตาทำจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ และใช้เทคนิคและลวดลายการสานแบบดั้งเดิม
- ไทลื้อ – มุ่งฟื้นฟูเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสิ่งทอของชุมชนไทลื้อในอำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมุ่งเน้นไปที่การออกแบบและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม การถ่ายทอดทักษะและความรู้ดั้งเดิม การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิต และรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน
5.เราทำอะไรเพื่อสนับสนุนแฟชั่นที่ยั่งยืน
กฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Industry Charter for Climate Action) ของสหประชาชาติ ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30% ภายในปีพ.ศ. 2573
เพื่อสนับสนุนการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 บริติช เคานซิล ร่วมกับ Fashion Revolution ได้นำเสนอ 'Fashion Open Studio International' ซึ่งจะจัดแสดงผลงานของนักออกแบบหน้าใหม่จำนวน 6 - 10 คน ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ที่ทำการออกแบบที่ยั่งยืน และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบ และแฟชั่นจากสหราชอาณาจักรและทั่วโลก งานออกแบบจากนักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่เหล่านี้จะจัดแสดงที่งาน COP26 อ่านเพิ่มเติมที่นี่
ที่มา: UNCC
https://unfccc.int/climate-action/sectoral-engagement/global-climate-act...