ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศไทยนับเป็นประเทศลำดับที่สองของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และจำเป็นต้องประกาศปิดประเทศในเดือนมีนาคม แต่ในวันนี้ ไทยอยู่ในจุดที่ดีขึ้นมาก กฎระเบียบต่างๆได้รับการผ่อนคลายมากขึ้น

ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการปิดมหาวิทยาลัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมไปถึงการใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆไม่สามารถดำเนินการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามปกติได้

ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  หรือ อว ได้ทำงานอย่างแข็งขันกับภาคอุดมศึกษาของไทย เกี่ยวกับกลยุทธ์ในการตอบสนองต่อโควิด-19 โครงการอว. สร้างงานถูกเริ่มต้นขึ้นและสร้างตำแหน่งงานกว่า 10,000 อัตรา เพื่อสนับสนุนสถาบันวิจัยและหน่วยงานวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ กระทรวงยังได้จัดสรรเงินสนับสนุนจำนวน 3,000 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและปรับปรุงแผนการพัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่อตอบสนองต่อโควิด-19

ในขณะที่มีแผนการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง วิธีการสอนและการเรียนรู้ใหม่ ๆ ได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย ดังที่ดร. สุวิทย์กล่าวถึงในบทความของท่านว่า เทคโนโลยีไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางสังคม แต่ยังมีความเสี่ยงและภัยคุกคามอื่นๆ เช่นการแพร่ระบาดในครั้งนี้ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคม

เราจะได้รับฟังดร. สุวิทย์กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงในการรับมือและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้  รวมถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า อนาคตของความร่วมมือระหว่างประเทศและความสำคัญของรัฐบาลในการสนับสนุนนวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อสาธารณชนในช่วงวิกฤติโควิด-19

 

สรุปประเด็นสำคัญ

  • เราได้เข้าใจมุมมองความคิด และแผนงานของกระทรวง ตลอดจนความท้าทายและโอกาสของภาคอุดมศึกษาและการวิจัยของประเทศไทยภายหลังโควิด-19 และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร
  • อนาคตการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศได้ถูกยกมาพูดคุย โดยดร. สุวิทย์ เน้นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันภายใต้แนวทางจตุภาคี หรือ Quadruple Helix โดยมีพันธมิตรหลักอย่างน้อย 4 ภาคส่วน ได้แก่มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายความร่วมมือระดับโลก
  • วิกฤตการณ์ครั้งนี้ เผยให้เห็นโอกาสบางอย่างเช่นกัน ประเทศไทยไม่สามารถให้ความสำคัญแค่ในส่วนของ R (Research), D (Development) และ I (Innovation) ได้อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องขยายห่วงโซ่คุณค่าไปสู่ R, D, I และ M (การวิจัย การพัฒนา นวัตกรรมและการผลิต) เพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างการวิจัยเชิงวิชาการและภาคอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน นอกจากนี้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็มีความสำคัญเช่นกัน มีการแนะนำความรู้อย่างน้อย 4 ด้าน คือ ภาษาอังกฤษ ดิจิตอล การเงินและความรู้ทางสังคม เพื่อผลิตผู้ที่มีแนวคิดหรือทักษะระดับโลก
  • เราเคยได้ยินเกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือระดับโลกไม่เพียงแต่ประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม) และอาเซียน แต่ยังเป็นการก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ของความเป็นสากล ดร.สุวิทย์ยังเน้นถึงสาระสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิต การวิจัยสหสาขา การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ทัศนคติของผู้คนและโอกาสในการคิดค้นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้จากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

 

ความคิดเห็นจากบริติช เคานซิล

ความสำคัญของเครือข่ายความร่วมมือระดับโลก: การระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของการทำงานร่วมกันในขอบข่ายของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ท่านรัฐมนตรีได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานเคียงข้างกัน ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ  แต่รวมไปถึงระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ภายใต้ความร่วมมือแบบจตุภาคี หรือ Quadruple Helix ซึ่งควรนำมาใช้ในการศึกษาระดับอุดมศึกษาและนโยบายการวิจัย ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ 'เครือข่ายความร่วมมือระดับโลก' ที่สามารถส่งเสริมอนาคตของความร่วมมือระหว่างประเทศสำหรับประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก การมีส่วนร่วมของหลากหลายภาคส่วนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างงานวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงและเกิดประโยชน์ในวงกว้าง ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างทักษะระดับโลกแก่ผู้คนด้วย 

มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต: การศึกษาแบบออนไลน์ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาและความรู้ได้ทั่วถึงมากขึ้น เราควรให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบออนไลน์และการศึกษาตามความถนัดของแต่ละบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่คนทุกวัย ท่านรัฐมนตรีได้ชี้ให้เห็นว่าการเตรียมพร้อมทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศด้วยความรู้สี่อย่างประกอบด้วย ความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ ดิจิตอล การเงินและสังคม เป็นสิ่งสำคัญไม่เพียงแต่สำหรับนักเรียน แต่รวมไปถึงประชาชนทั่วไปด้วย Covid-19 ทำให้ผู้คนต้องฝึกฝนและพัฒนาทักษะของตนเองอยู่เสมอ ดังนั้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงมีความสำคัญมาก นอกเหนือจากการพัฒนาความรู้ความสามารถ การสร้างแนวคิดของผู้คนก็มีความสำคัญไม้แพ้กัน เพราะจะช่วยเตรียมพร้อมปรับรับวิธีการทำงาน การเรียนรู้และการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ๆได้นั่นเอง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง