เรียกได้ว่ามาเหมารางวัลจากเวที FameLab Thailand 2021 กันเลยทีเดียวสำหรับอาจารย์ไอซ์
สิรวิชญ์ อิทธิโสภณพิศาล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และยังมีดีกรีเป็นดอกเตอร์ ด้าน Bioinformatics จาก Imperial College London เพราะนอกจากจะได้เป็นผู้ชนะเลิศในปีนี้แล้ว ยังฮ็อตสุด ๆ จนโกยคะแนน People’s Choice Awards ไปเกิน 10,000 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนสูงที่สุดที่เราเคยมี ดังนั้นก่อนที่จะปิดฉากเวที FameLab ลงอย่างเป็นทางการ เชื่อว่าแฟนคลับ FameLab Thailand และแฟนคลับของเจ้าตัว คงอยากรู้จักเขาคนนี้ให้มากยิ่งขึ้น และบอกได้เลยว่าแนวคิดของเขาน่าสนใจอยู่ไม่น้อย 

หลังจากได้เป็นแชมป์ FameLab Thailand 2021 แล้ว feedback จากคนรอบข้างเป็นอย่างไรบ้าง? โดนติดต่อไปเป็นวิทยากรบ้างไหม?

ก็มีเพื่อน ๆ เข้ามาแสดงความยินดีกันพอสมควรครับ และที่เซอร์ไพรส์ที่สุดก็คือมหาวิทยาลัยขึ้นป้ายไวนิลแสดงความยินดีติดไว้ที่กลางวงเวียนหน้าม.เลย ทีนี้ใครเข้ามาก็จะเห็นหมด อาจารย์บางท่านก็แซวว่าเห็นผ่าน ๆ นึกว่าศิลปินเกาหลีมาอีเว้นท์เคาท์ดาวน์เมืองไทย (หัวเราะ)

ส่วนเรื่องงานอื่น ๆ ก็มีติดต่อให้เป็นพิธีกรในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยครับ แล้วก็จะมีไปเป็นวิทยากรพิเศษในหัวข้อการใช้ภาษาอังกฤษและการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วยครับ

ตอนก่อนแข่งอาจารย์ไอซ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ค่อยมั่นใจความสามารถด้าน Public speaking ของตัวเอง ทำไมตอนนั้นไม่มั่นใจ กังวลเรื่องอะไรเป็นพิเศษ?

เราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็จริง แต่ก็เป็นอาจารย์ที่เพิ่งบรรจุใหม่ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะไม่มีความมั่นใจในด้านทักษะการพูด อีกอย่างหนึ่งก็คือโดยนิสัยของเราแล้วเป็นคนที่พูดไม่ชัด ก็เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมผมถึงมาลองทำ TikTok เพราะรู้ว่าถ้าเราลองทำอะไรที่มันท้าทายขีดความสามารถของตัวเอง มันก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยพัฒนาทักษะของเราได้ และโชคดีที่เราสามารถทำมันออกมาได้ดี

ปล. ที่เห็นใน TikTok พูดคล่องแคล่ว จริง ๆ อัดไปหลายเทคแล้วเลือกเอาอันที่ดีที่สุดมาลง

แล้วตอนนี้มั่นใจขึ้นหรือยัง?

ตอนนี้มั่นใจขึ้นมากกว่าเดิมมาก แต่ก็ยังมีบางจุดที่เราคิดว่ายังสามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ 

มาคุยเรื่องงานวิจัยกันบ้าง อาจารย์ไอซ์ได้เลือกงานวิจัยสมัยป.เอกของตัวเองมาเล่าในรอบ Final ซึ่งน่าสนใจทีเดียว ช่วยเล่าสั้น ๆ เกี่ยวกับงานวิจัยนี้อีกสักรอบ ก่อนที่เราจะคุยต่อยอดจากเรื่องนี้

สมัยเรียนปริญญาเอกที่ Imperial เราผลิตเว็บเซอร์วิสออกมาให้นักวิจัยได้ใช้จำลองและทำนายการเกิดมิวเทชันบนโปรตีนของสิ่งมีชีวิตรวมถึงไวรัสกลายพันธุ์ พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบ โดยใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ช่วยนักวิจัยอื่น ๆ ทั่วโลก มีผู้ใช้งานหลักหมื่น ได้รับการอ้างอิงโดยงานวิจัยอื่น ๆ เป็นร้อยครั้ง และทำให้ผมได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2020 ซึ่งมอบโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปัจจุบันโปรแกรมตัวนี้ถูกใช้งานโดยนักวิจัยหลายพันคนทั่วโลก รวมถึงการศึกษาโคโรนาไวรัสในไทยด้วย

เข้าใจว่า เทคโนโลยีที่ว่านี้มาจากความรู้ด้าน bioinformatics ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมว่ามันคืออะไร?

สาขานี้ค่อนข้างใหม่สำหรับหลาย ๆ คน มีชื่อภาษาไทยว่า ชีวสารสนเทศ และเป็นสาขาที่ค่อนข้างยากเพราะว่าเราต้องรู้ทักษะหลากหลายไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ สถิติ การคำนวน ชีววิทยา และที่สำคัญคือภาษาอังกฤษ เพราะเราจะต้องใช้ทักษะคอมพิวเตอร์ในการเขียนโปรแกรมเพื่อคำนวณค่าต่าง ๆ หรือวิเคราะห์ข้อมูลทางชีววิทยา 

งานวิจัยดูดีมากเลย ทำไมถึงเลือกมาเป็นอาจารย์แทนที่จะเป็นนักวิจัยทำเรื่องนี้ต่อ?

โดยปกติอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะมีบทบาททั้งเป็นครูผู้สอนและการเป็นนักวิจัยอยู่แล้วครับ และในขณะที่เราทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเราก็ทำวิจัยรวมถึงสอนนักศึกษาทำวิจัยในสาขาที่เราสนใจไปด้วย

จากที่ได้รับ People’s Choice Awards เดาว่าส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากแฟน ๆ ใน TikTok มาร่วมโหวต เลยขอถือโอกาสถามเรื่อง TikTok สักหน่อย มีเทคนิคหาเรื่องมาพูดอย่างไรให้มีคนติดตามเยอะขนาดนี้?

สิ่งสำคัญของการทำ TikTok ก็คือเราต้องเลือกเรื่องที่ผู้ฟังมีแนวโน้มที่จะสนใจฟัง ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องแปลกใหม่หรือเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ บางทีเราก็ต้องจินตนาการว่าถ้าเราเป็นผู้ฟังเราจะชอบเรื่องนี้ไหม เราจะเลือกเรื่องที่เราสนใจเพียงอย่างเดียวไม่ได้  และที่สำคัญคือต้องสรุปให้กระชับภายใน 1 นาทีให้ได้ เพราะหากเราพูดยืดเยื้อคนดูก็จะเบื่อ

ความตั้งใจแรกที่ทำ TikTok คืออะไร? 

ตอนแรกสนใจทำเพราะว่าเค้ามีแคมเปญ TikTok Uni คอยสนับสนุนครีเอเตอร์ที่ทำคอนเทนท์ด้านความรู้ เราก็เลยเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราได้ฝึกฝนทักษะการทำคอนเทนท์และพัฒนาทักษะการสื่อสารของเราไปด้วย

คิดว่า TikTok สามารถเป็นช่องทางการสื่อสารวิทยาศาสตร์กับคนรุ่นใหม่ได้ไหม?

สามารถเป็นช่องทางสื่อสารวิทยาศาสตร์กับคนรุ่นใหม่ได้ดีเยี่ยมเลย เพราะว่าหากดูความนิยมของสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน แพลตฟอร์มนี้เติบโตรวดเร็วมากและเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเนื้อหาจะต้องสั้นกระชับตาม concept ของแพลตฟอร์ม

กลับมาที่การแข่งขัน FameLab ของเรากันบ้าง เพิ่งจบไปกับการแข่งขันรอบ International Semi-finals ได้ยินมาว่าอาจารย์ไอซ์เตรียมตัวหนักมาก มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

ซ้อมบทพูดวันนึงเป็น 100 รอบอ่ะครับ (หัวเราะ) เพราะว่าของประเทศไทยเรามีเวลาเตรียมตัวน้อยกว่าประเทศอื่นด้วย บางประเทศเค้าตัดสินได้ผู้ชนะเป็นตัวแทนประเทศตั้งแต่ช่วงกลางปีมาแล้ว และบทพูดของเรามีการเปลี่ยนแปลงด้วย เราก็เลยต้องซ้อมให้หนักเพื่อให้งานแข่งขันจริงมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด

ในฐานะที่ตอนนี้เป็นทั้งอาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ คิดว่าทำไมการสื่อสารวิทยาศาสตร์ถึงสำคัญ?

เพราะวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราแต่เรากลับมีช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับคนทั่วไป ที่สำคัญที่สุดคือ วิทยาศาสตร์สอนให้เราคิดวิเคราะห์โดยใช้เหตุผลเป็นหลัก หากคนในสังคมได้รับการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดี มีความคิดเชิงเหตุผลแบบนักวิทยาศาสตร์ ก็จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องและทำให้เราไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ โดยเฉพาะข่าวสารตามโซเชียลมีเดียที่มีให้เห็นว่าผิดอยู่เรื่อย ๆ 

คำถามสุดท้าย จากที่ได้คุยกันมารู้สึกว่าอาจารย์ไอซ์มีเรื่องในหัวเยอะและพูดเก่ง ถ้าสมมติให้มีเวทีให้แข่งพูดเรื่องอะไรก็ได้ที่ไม่จำกัดแค่วิทยาศาสตร์ จะพูดเรื่องอะไร? 

ผมอยากจะพูดเรื่องของความเท่าเทียมกันในสังคมและการยอมรับในความแตกต่างของรูปลักษณ์ของแต่ละคน เพราะแต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน และสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ เราจึงไม่ควรนำกรอบของใครคนใดคนหนึ่งไปตัดสินคนอื่น ๆ ครับ

---------

สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับโครงการ FameLab สามารถดูข้อมูลได้ที่ www.britishcouncil.or.th/famelab