สร้างแรงบันดาลใจจากตัวอย่างความสำเร็จของกิจการเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักร

Bikeworks

Bikeworks ก่อตั้งมา ตั้งแต่ปี 2006 รายได้เริ่มต้นปีละ 70, 000 ปอนด์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 830,000 ปอนด์ ภายในระยะเวลา 6 ปี ให้บริการธุรกิจบริการด้านจักรยานครบวงจร ซ่อมบำรุง ขายจักรยานและอุปกรณ์อะไหล่ รับซื้อจักรยานและอุปกรณ์มือสอง ศูนย์ฝึกอบรมการซ่อมจักรยานแบบมืออาชีพ โดย Bikeworks จะเปิดให้คนไร้บ้าน คนตกงาน มาฝึกทำงานโดยจ่ายค่าแรงสูงกว่าแรงงานขั้นต่ำ ปัจจุบัน Bikeworks มีทั้งสิ้น 1 สาขา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีแผนการขยายอีก 2 สาขาในอนาคต

โครงการที่ดำเนินการร่วมกับธนาคาร Barclay คือการรณรงค์ให้คนปั่นจักรยาน เพื่อลดมลภาวะในอากาศ และจราจรที่ติดขัดในกรุงลอนดอน

HCT Group

HCT Group (Hackney Community Transport) ก่อตั้งในปี 1982 ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม โดยทำงานด้านระบบขนส่งมวลชน มีเป้าหมายทางสังคมเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านธุรกิจ ด้วยการสร้างพลังและความร่วมมือของชุมชนอย่างแท้จริง มีบริการครบวงจร ตั้งแต่ฝึกคนงาน และอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ นำกำไร 37% กลับไปพัฒนาชุนชน เนื่องด้วยไม่มีผู้ถือหุ้น ดังนั้นไม่ต้องจ่ายเงินปันผล

ในปี 1993 ได้สัญญาว่าจ้างด้านขนส่งมวลชนครั้งแรก เนื่องจากมีจุดแข็งในด้านบริการและเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ดี โดยธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด จากมีรายได้ 202,000 ปอนด์ ในปี 1993 เพิ่มเป็น 28.6 ล้านปอนด์ในปี 2011-2012 ปัจจุบันมีลูกจ้าง 700 คน และรถยนต์โดยสาร 370 คัน  รายได้หลักขององค์กร 98% มาจากสัญญาว่าจ้างจากภาครัฐซึ่งต้องแข่งขันในเชิงธุรกิจและราคา  HTC มีผลงานที่สำคัญได้แก่

  • รถขนส่งมวลชนสีแดง นำเที่ยวกรุงลอนดอน
  • รถรับส่งนักเรียน
  • ขนส่งมวลชนเพื่อบริการสาธารณะ
  • รถบริการเพื่อทัศนศึกษา 

ผลสัมฤทธิ์ทางสังคม (Social Impact 2011-2012)

  • กำไรของการดำเนินงานถูกนำกลับมาพัฒนาชุมชนเนื่องจากรูปแบบองค์กรที่ไม่มีผู้ถือหุ้น โดย 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 37 % ถูกนำไปสู่ชุมชน 
  • อำนวยความสะดวกให้กลุ่มชุมชน

    - ให้บริการผู้โดยสารเดินทาง 66,000 เที่ยว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเช่ารถ 

  • อำนวยความสะดวกรายบุคคล 

    - อำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ 

    - ให้บริการผู้โดยสารเดินทาง 230,000 เที่ยว 

  • ศูนย์กลางการเรียนรู้ 

    - สร้างศูนย์ฝึกอบรมอาชีพ

    - สร้างอาชีพได้ถึง 76 ตำแหน่ง 

  • ด้านเศรษฐกิจ 

    - ดำเนินการใน 7 จาก 15 เมือง ในชานเมือง

Fifteen

ฟิฟทีน เป็นกลุ่มร้านอาหารที่ใช้มนต์เสน่ห์ของอาหารเพื่อให้โอกาสคนหนุ่มสาวที่ไม่มีงานทำนั้นมีอนาคตที่ดีขึ้น กลุ่มฟิฟทีนจัดตั้งขึ้นจากสามร้านอาหาร คือร้านที่มีชื่อเสียงของเจมี่ โอลิเวอร์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2002  ร้านฟิฟทีน อัมสเตอร์ดัมในเดือน ธันวาคม 2004 และ ฟิฟทีน คอร์มวอลล์ในเดือนพฤษภาคม 2006

ฟิฟทีนตั้งขึ้นโดยเจมี่ โอลิเวอร์ในปี 2002 วิสัยทัศน์ของเจมี่ โอลิเวอร์คือการสร้างร้านอาหารที่มีครัวแบบมืออาชีพ  เสิร์ฟอาหารอิตาเลียนที่งดงาม พร้อมๆ ไปกับโปรแกรมการฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงาน หัวใจของธุรกิจคือความต้องการที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่เชื่อในตนเอง ช่วยแสดงให้เห็นอดีตของพวกเขาที่สามารถทิ้งไว้เบื้องหลัง และชักจูงพวกเขามาสู่อนาคตที่พวกเขาสร้างเอง

ทุกปี ร้านแต่ละร้านจะจ้างคนหนุ่มสาวที่ไม่มีคุณสมบัติเพียงพออายุระหว่าง 18 - 24 ปีในชุมชนและให้การอบรมจนกลายมาเป็นเชฟที่มีคุณสมบัติครบถ้วนผ่านโปรแกรมการฝึกงาน พวกเขาจะได้เรียนรู้ที่จะรัก เคารพอาหารและถิ่นกำเนิดของอาหาร โดยทำทุกอย่างตั้งแต่การอบขนมพื้นบ้านและการหั่นเนื้อ ไปจนถึงทักษะการทำขนมชั้นสูง  ส่วนหนึ่งของหลักสูตรผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเรียนรู้การฝึกฝนการทำอาหารที่วิทยาลัย ฝึกปฏิบัติที่ร้านอาหารฟิฟทีน เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งที่มาของอาหารและและมีประสบการณ์ในร้านอาหารระดับสูง  ผู้เข้ารับการอบรมจะจบหลักสูตรหลังจากเข้าอบรมหลักสูตรเข้มข้น 12 เดือนและเริ่มเส้นทางของการกลายมาเป็นเชฟมืออาชีพรุ่นใหม่

Ebico

กิจการเพื่อสังคมด้านพลังงาน Ebico ก่อตั้งในปี 1998 ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นจำนวน 69,000 ปอนด์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Angle Investor ที่ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการจึงทำให้สามารถระดมทุนในธุรกิจขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ Ebico เป็น Non Profit Organization ที่จดทะเบียนในรูปแบบ Company Limited by Guarantee จึงนับว่าเป็นกิจการเพื่อสังคมผู้จำหน่ายพลังงานรายเดียว ในจำนวนผู้จัดจำหน่ายรายเล็กทั้งหมด 8 ราย และรายใหญ่ 6 รายในประเทศอังกฤษ โดยปัจจุบัน Ebico มีพนักงานประจำ 6 คน สร้างรายได้เฉลี่ย 22 ล้านปอนด์  Ebico มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่ายพลังงานในภาคครัวเรือน

  • เน้นให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงพลังงานในราคาเป็นธรรมตามที่ใช้จริง
  • ใช้โมเดลการคิดราคาที่กระจายค่าตัวกลางไฟฟ้าลงในแต่ละหน่วยการใช้ไฟฟ้า และกำหนดอัตราค่าไฟเป็น Flat Rate เพื่อไม่กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็น ตามโมเดลแบบดั้งเดิมที่เอื้อประโยชน์ให้คนใช้ไฟฟ้าปริมาณมากได้รับอัตราค่าบริการต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้มาก
  • บริการด้วยคุณภาพและมุ่งหวังความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า
  • ไม่มีการจ่ายปันผล ผลตอบแทนในการดำเนินงานจึงนำกลับมาลงทุนพัฒนาบริษัท และคุณภาพการบริการ

ด้วยการเป็นกิจการเพื่อสังคม งบประมาณในการประชาสัมพันธ์จึงมีจำกัด กลยุทธ์ที่ Ebico ใช้ได้แก่

  • การตลาดจะใช้ Social Network เพื่อสื่อสารกับเครือข่ายสมาชิก ผ่านอินเทอร์เน็ต Facebook Twitter Blog และรวมศูนย์ข้อมูลที่เว็บไซต์หรือทางใบปลิว และเน้นที่ตัวคุณภาพของบริการ จึงเกิดการบอกต่อ (Viral Marketing)
  • สร้างเครือข่ายการดำเนินงาน (Partnership Model) ร่วมกับสมาคมผู้อยู่อาศัย สถาบันการเงิน 

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 14 ปีของกิจการเพื่อสังคมของ Ebico นั้น มองว่าความท้าทายของกิจการเพื่อสังคม คือการขยายกิจการ และเติบโตแข่งขันในตลาดกระแสหลักนั่นเอง

The Elvis & Kresse Organisation (Eako)

เอลวิสแอนด์ครีสสร้างสรรค์เครื่องประดับไลฟ์สไตส์ที่่ตื่นตาตื่นใจโดยการนำสิ่่งของที่ไม่ใช้แล้วมาออกแบบสร้างสรรค์ใหม่ การเป็นผู้นำนวัตกรรมและผู้บุกเบิกเครื่องประดับที่เรียกว่า ไฟร์โฮส ซึ่งทำมาจากท่อดับเพลิงเก่าของหน่วยดับเพลิงของสหราชอาณาจักรที่ได้ใช้ช่วยดับเพลิงและช่วยชีวิตผู้คนแล้ว ท่อดับเพลิงนี้ก็จะถูกนำไปทิ้ง เอลวิสแอนด์ครีสนั้นนำมารังสรรค์ด้วยนวัตกรรมเป็นเครื่องประดับเป็นเจ้าแรก และมอบ 50% ของผลกำไรให้กับมูลนิธิ

เอลวิสแอนด์ครีสคิดถึงเรื่องการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ตลอดเวลา เมื่อเอลวิสแอนด์ครีสพบกับหน่วยดับเพลิงของลอนดอน (London Fire Brigade) พวกเขาก็ตกหลุมรักทันที แม้ว่าเอลวิสแอนด์ครีสจะเริ่มต้นในลอนดอน แต่เอลวิสแอนด์ครีสก็รวบรวมท่อดับเพลิงทั่วทั้งสหราชอาอาณาจักรและเพื่อเป็นการขอบคุณหน่วยดับเพลิงของสหราชอาณาจักร เอลวิสแอนด์ครีสแบ่งปัน 50% ของรายได้มอบให้กับมูลนิธินักสู้ไฟ (Fire Fighter Charity)  เอลวิสแอนด์ครีสขัดถูเขม่า น้ำมัน และสิ่งต่างๆ ที่ติดมากับท่อดับเพลิงในเวลา 25 ปี ออกไป เพื่อที่จะได้ผ้าสีเขียวที่สวยงามมาใช้ทำเครื่องประดับ สินค้าของเอลวิสแอนด์ครีสทั้งหมดผลิตโดยยึดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เช่น ชิ้นส่วนที่ไม่ใช่แล้วในอุตสาหกรรมเป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ วัสดุเหลือใช้ด้านล่างนี้คือวัสดุที่พวกเขานำมาใช้ใหม่

ท่อดับเพลิง กระสอบกาแฟที่ไม่ใช้แล้ว กระสอบชา เศษผ้าจากใบเรือ แถบเครื่องบินที่ควบคุมการจราจรทางอากาศที่ใช้แล้ว กระดาษลังโฟม ที่นอนฟาง ไหมร่มที่ใช้กระโดดร่ม ผ้าหุ้มเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน

Versa Weight Management Programme

เวอร์ซา เวดจท์ แมเนจเมนท์ โปรแกรม มีโปรแกรมการทำงานกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมการรับประทานอาหาร  ในปี 2002 หน่วยการส่งเสริมสุขภาพแบรดฟอร์ด ได้ขอให้ วอร์ซา เวดจท์ แมเนจเมนท์ ดูแลโครงการนำร่องสองโครงการเพื่อเอาชนะปัญหาเรื่องการมีน้ำหนักตัวเกินของประชาชนในเขตนี้

การประเมินผลการดำเนินงานในทั้งสองโครงการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาสื่อต่างๆ ที่ช่วยให้โปรแกรมในแบรดฟอร์ด และเชฟฟิลล์ประสบความสำเร็จมากขึ้น

เวอร์ซา เวดจท์ แมแนจเมนต์เชื่ออย่างแรงกล้าว่า ความสำเร็จของเวดจท์ แมเนจเมนท์โปรแกรมนั้นเกี่ยวข้องกับวิธีการ  ผู้รับบริการไม่ได้เลือกที่จะมีน้ำหนักเกินในชีวิต แต่บางสิ่งบางอย่างในการดำเนินชีวิตของพวกเขาสร้างปัญหานี้ ดังนั้นผู้รับบริการจึงต้องได้รับความรู้เพื่อที่จะเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นคืออะไรและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตเพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ผู้รับบริการได้พยายามเปลี่ยนแปลงทีละน้อยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ต่อสัปดาห์

The Big Issue

เดอะบิ๊ก อิชชู่ เปิดตัวเมื่อปี 1991 โดย กอร์ดอน ร๊อดดิกค์ และจอห์น เบิร์ด เพื่อแก้ปัญหาของจำนวนคนไร้บ้านในกรุงลอนดอน ทั้งสองคนได้แก้ปัญหาโดยเสนอทางเลือกให้กับคนไร้บ้านได้หารายได้โดยการช่วยให้เขาช่วยเหลือตนเอง ยี่สิบปีของการจัดการให้ผู้คนไร้บ้านหลายพันคนให้สามารถช่วยเหลือตนเอง กำหนดชีวิตของตนเอง และทำงานเพื่อช่วยคนไร้บ้านและคนที่มีปัญหาในประเทศอังกฤษ

ในการเป็นผู้ค้าของบิ๊ก อิชชู่ นั้น แต่ละรายจะต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นคนไร้บ้านหรือมีความเสี่ยงในการที่จะไม่มีที่อยู่อาศัย และจะต้องมีกระบวนการปฐมนิเทศและเซ็นข้อตกลงการปฏิบัติงาน เมื่อได้ทำสิ่งที่กล่าวมาแล้วเสร็จก็จะได้รับแจกแมกกาซีนและมีการแจ้งจุดที่จะต้องจำหน่ายหนังสือ เมื่อขายแมกกาซีนได้หมดแล้วพวกเขาสามารถซื้อแมกกาซีนเพิ่มในราคา 1.25  ปอนด์ และขายในราคา 2.5  ปอนด์

ในปีที่แล้วเพียงปีเดียวก็สามารถสร้างรายได้ถึง 5 ล้านปอนด์ให้กับผู้ค้า (Vendor) ของบิ๊ก อิชชู่ กว่ายี่สิบปีแมกกาซีนก็กลายเป็นที่รู้จักในด้านการรายงานข่าวที่มีความท้าทาย โดยมีผู้สื่อข่าวที่มีความเป็นกลางและสามารถสัมภาษณ์บุุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และสามารถจำหน่ายได้ถึง 105,000 ฉบับต่อสัปดาห์

ทางออกการแก้ปัญหาทางสังคมของ บิ๊ก อิชชู่ กลายมาเป็นแบรนด์ที่ได้รับการรับรู้อย่างแพร่หลายในสหราชอาณาจักรและเป็นพิมพ์เขียวที่มีอำนาจสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ได้สร้างแรงบันดาลใจในการนำนวัตกรรมทางสังคมของบิ๊ก อิชชู่ มาเป็นแบบอย่างอย่างแพร่หลาย จากโยฮันเนสเบิร์กถึงโตเกียว จากซิดนีย์ถึงแอดดิส อะบาบา จากเพิรธถึงเซาส์เปาโล จากโซลถึงไนโรบี      เดอะบิ๊ก อิชชู่กำลังเป็นผู้นำโลกในด้านการปฏิบัติการช่วยเหลือตนเอง

Divine Chocolate

ในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1998 ได้มีการเปิดตัวดีไวน์ช็อคโกแลตแท่ง ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าแรกที่ใช้ช็อคโกแลตจากการค้าที่เป็นธรรมและจับกลุ่มเป้าหมายตลาดรวมในตลาดลูกกวาดของสหราชอาณาจักร  ด้วยรูปแบบธุรกิจใหม่ที่น่าตื่นเต้น  สหกรณ์ของเกษตรกรผู้ค้าโกโก้ในกาน่าเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทที่ผลิตช็อคโกแลตแท่งบริษัทนี้ ผู้แทนของเกษตรกรสองรายเดินทางไปลอนดอนเพื่อฉลองงานการเปิดตัวที่ยิ่งใหญ่ และนี่คือเรื่องราวที่จะบอกว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ในช่วงต้นปี 1990 มีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมการปรับโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพของตลาดโกโก้ในกาน่า มีเกษตรกรชั้นนำจำนวนมาก รวมถึงตัวแทนเกษตรกรที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในคณะกรรมการโกโก้ของกาน่า คือ นานา  ฟริมพงก์ อะบรีเบรส ผู้ตระหนักว่าเขามีโอกาสในการบริหารจัดการกับเกษตรกรต่างๆ เพื่อที่จะเข้าไปจัดการโครงสร้างการตลาดภายใน นั่นหมายความว่าพวกเขาสามารถก่อตั้งเป็นบริษัทเพื่อขายโกโก้ให้กับบริษัทการตลาดโกโก้ (ซีเอ็มซี) บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ  คูเอปา โกโก้ หมายถึงผู้ปลูกโกโก้ที่ดี มีภารกิจที่จะให้อำนาจเกษตรกรที่อยู่ในการสนับสนุนของพวกเขาได้มีชีวิตที่ดี การเพิ่มจำนวนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกิจกรรมต่างๆ ของคูเอปา และเพื่อจะพัฒนาการเก็บเกี่ยวโกโก้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรที่จัดให้มี คูเอปา โกโก้ จะได้รับการสนับสนุนโดยทวิน เทรดดิ้ง บริษัทการค้าที่เป็นธรรมที่ทำเรื่องกาแฟให้กลายมาเป็น คอฟฟี่ไดเร็ค และ เอสเอนยู (เอ็น จี โอ ฮอลแลนด์)

Women Like UK

วูแมน ไลค์ ยูเค เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัลมากมายจากการทำงานเพื่อสร้างอนาคตสำหรับผู้หญิงผู้ซึ่งต้องการทำงานหลังจากมีบุตรแล้ว เป้าหมายของ วูแมน ไลค์ ยูเค คือการให้ทางเลือกแก่ผู้หญิงที่เหมาะกับความจำเป็นของครอบครัว โดยไม่สูญเสียคุณค่าในที่ทำงานของตนเองไป โดยมีการดำเนินงานดังนี้

  • ดำเนินการจัดการประชุมปฏิบัติการในราคาที่สามารถจ่ายได้เพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพและให้คำปรึกษาที่ปฏิบัติได้จริง และสนับสนุนในสิ่งที่ผู้หญิงต้องการ
  • ให้ทุนเล่าเรียนกับสตรีที่มีรายได้ต่ำ เพื่อเข้าถึงการสร้างอาชีพ
  • ช่วยการเติบโตของตลาดงานนอกเวลา ในเดือนเมษายน วูแมน ไลค์ ยูเค ได้เปิดตัว ไทม์ไวส์จ๊อบ (Timewise Job)  เว็บไซต์เกี่ยวกับงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านคุณภาพของงานนอกเวลาที่ผู้หญิงต้องการมากที่สุด ตลอดจนการเป็นตัวแทนการรับสมัครงานในลอนดอนที่ชื่อว่า ไทม์ไวส์ รีครุทเมนต์ (Timewise Recruitment)
  • ทำงานกับผู้ประกอบการในการช่วยให้เขาออกแบบงานนอกเวลาที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจของผู้ประกอบการเอง
  • ทำงานกับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีอิทธิพลต่อความเห็นของผู้อื่นเพื่อเสนอผลประโยชน์ทางธุรกิจของงานนอกเวลาและปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญให้เป็นที่รับรู้

Big Society Capital

รัฐบาลอังกฤษเล็งเห็นความสำคัญในการขยายภาคส่วนกิจการเพื่อสังคม โดยหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนคือการสร้างกลไกตลาดการลงทุนเพื่อสังคมให้มีความหลากหลาย เข้มแข็งและยั่งยืน และได้สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง Big Society Capital Group ประกอบด้วย 1. The Big Society Capital Ltd (BSC) ขึ้นเป็นสถาบันการเงินอิสระ จดทะเบียนในรูปแบบ Company Limited by Shares ในปี 2012 โดยเงินทุนเริ่มต้นจำนวน 600 ล้านปอนด์มาจาก Dormant Accounts และ และกลุ่ม Merlin Banks (Barclays, HSBC, Lloyds Banking Group และ RBS) 2. โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ The Big Society Trust (Company Limited by Guarantee) และ 3. The Big Society Foundation เป็นรูปแบบมูลนิธิที่รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเป้าหมายทางสังคมของกลุ่มบริษัท

Big Society Capital มีเป้าหมายให้เกิดการขยายผลกระทบเชิงบวกทางสังคม ด้วยบทบาทในการสร้างกลไกตลาดการลงทุนเพื่อสังคม โดยการพัฒนาองค์กรตัวกลางทางการเงินเท่านั้น (wholesale) จะไม่เข้าไปแทรกแซงตลาดโดยตรงระหว่างนักลงทุนและกิจการเพื่อสังคม

การทำงานผ่านกองทุนหรือสถาบันทางการเงินเพื่อสังคม (Social Investment Finance Intermediaries: SIFIs) ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบทางเป้าหมายทางสังคมและการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะขององค์กร (Social Analysis and Due Diligence) ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ เป้าหมายทางสังคม (Mission) โครงสร้างองค์กร (Governance) ผลกระทบทางสังคม (Impact) และปัจจัยในการขยายผลการดำเนินงานขององค์กร (Multipliers)

Big Society Capital (BCS) มีเป้าหมายให้เกิดการสนับสนุนการเงินถึง 3000 ล้านปอนด์ ใน 4 ปีข้างหน้าซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาให้องค์กรในภาคส่วนสังคมนั้นเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการลงทุนและเติบโต (Investment Readiness) องค์กรตัวกลางที่มีขนาดใหญ่ที่ BCS ทำงานด้วยนั้น ได้แก่ Big Issue Invest, Social Finance และ UnLtd 18

Social Enterprise UK

Social Enterprise UK (SE UK) ก่อตั้งในปี 2002 ในฐานะ National Body เพื่อส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม ด้วยองค์กรในรูปแบบสมาชิกภาพจำกสมาชิกในหลากหลายประเภทธุรกิจทั้งใหญ่และเล็กในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศอังกฤษ SE UK ดำเนินการเป็นองค์กรตัวกลางในการสนับสนุนการพัฒนากิจการเพื่อสังคมโดยให้บริการที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ อบรม พัฒนาเครือข่าย จัดทำวิจัยและสร้างการรับเรียนรู้ตลอดจนความตระหนักของสังคม ต้องมีความร่วมมือร่วมกันองค์กรอื่น ๆ เพื่อสร้างรากฐานและทิศทางของกิจการเพื่อสังคม

SE UK เป็นเสมือนศูนย์กลางของกิจการเพื่อสังคมในประเทศอังกฤษที่เชื่อมโยงการดำเนินงานควบคู่กับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน NGO และองค์กรด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาสู่การแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนการเติบโตของกิจการเพื่อสังคม

School for Social Entrepreneurs (SSE)

โรงเรียนเพื่อผู้ประกอบการทางสังคมก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดการฝึกอบรมและเปิดโอกาสให้แก่บุคคลในการแสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์และความสามารถทางกิจการเพื่อสังคมได้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม  นอกจากนี้ SSE  ยังจัดการเรียนรู้ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้จริงเพื่อเป็นการช่วยเหลือในการพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ หลังจากความสำเร็จของโครงการ Millennium Awards SSE ได้ขยายสาขาไปยังเมืองต่างๆ ของสหราชอาณาจักร  ทำให้เครือข่ายขยายเพิ่มโดยมีผู้ได้ผ่านการอบรมทั่วประเทศจำนวนมากกว่า  800  ราย

UnLtd UK

UnLtd   เป็นมูลนิธิสำหรับผู้ประกอบการกิจการเพิ่อสังคม เป็นองค์กรการกุศล ก่อตั้งโดยองค์กรชั้นนำ 7 แห่งที่ส่งเสริมผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม ทั้งยังสนับสนุนและพัฒนาบทบาทของผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมเปรียบดังพลังในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในสหราชอาณาจักรโดยการให้รางวัลแก่ผู้ประกอบการกิจการเพิ่อสังคม ประชาสัมพันธ์รายชื่อผู้เคยได้รับรางวัลซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมชาวอังกฤษให้เป็นที่รู้จักกว้างขึ้น สนับสนุนงานวิจัยถึงผลกระทบของผู้ประกอบการกิจการเพิ่อสังคมต่อส่วนรวม และให้คำปรึกษาที่อยู่ภายในองค์กรให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจผ่าน UnLtd Ventures

Pioneer Post

Pioneer Post เป็นสื่อที่เป็นกิจการเพื่อสังคมที่นำเสนอข่าวและประเด็นสำหรับผู้นำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและผู้ประกอบการเพื่อสังคมคลื่นลูกใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และดึงดูดผ่านข่าว บทวิเคราะห์ การดีเบต รายงานพิเศษ หรือผ่านทางโรงเรียนธุรกิจ Pioneer Post บนช่องทางการสื่อสารของตน

Piooneer Post เป็นสื่อที่นำผู้คนไม่ว่าจะภาคส่วนธุรกิจ SMEs ภาคการกุศล และกิจการเพื่อสังคม พร้อมทั้งองค์กรและเรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นมาไว้บนพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเปิดโอกาสในการแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนแนวความคิด ทดสอบความกล้าหาญ สำรวจความท้าทาย ความสำเร็จ ตลอดจนความล้มเหลว 

Blue Sky

Blue Sky เป็นกิจการเพื่อสังคมที่มาพร้อมกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านจ้างงานเฉพาะผู้ที่เคยต้องโทษ โดยการจัดหาการจ้างงานในหน่วยงานหรือบริษัทที่เหมาะสม Blue Sky มีเป้าหมายที่จะทลายวงจรการกระทำผิดซ้ำและความคิดอคติเกี่ยวกับอดีตผู้เคยต้องโทษ ตลอดจนต้องการสร้างผลประโยชน์ระยะยาวให้กับสังคมอย่างแท้จริง

รูปแบบการดำเนินงานอันเป็นเอกลักษณ์ของ  Blue Sky ในการบำบัดผู้ต้องโทษมีการดำเนินการผ่านการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานท้องถิ่นและภาคเอกชน และเติมเต็มการดำเนินงานด้วยการจ้างงานอดีตผู้เคยต้องโทษ นอกจากการจ้างงานประจำและจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนแล้ว  ยังมีการให้การดูแล การให้คำปรึกษา และการสนับสนุนในการตั้งต้นชีวิตใหม่เป็นรายบุคคล  ตั้งแต่ปี 2005  Blue Sky  ได้จ้างงานและสนับสนุนอดีตผู้ต้องโทษมากกว่า 1,000 คน และ มีเพียงแค่ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ 

Shelanu

Shelanu เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่กำลังได้รับการพัฒนาโดยการสนับสนุนของ Craftspace   Shelanu มีเป้าหมายในการช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทางการเมืองผู้หญิงผ่านการผลิตงานหัตถกรรมทีมีคุณภาพสูงโดยชิ้นงานเหล่านั้นได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหม่ของกลุ่มผู้หญิงเหล่านั้น นั้นก็คือเมืองเบอร์มิ่งแฮม Shelanu ต้องการช่วยให้กลุ่มผู้หญิงซึ่งเป็นผู้อพยพและผู้ลี้ภัยสามารถที่จะปรับตัวและใช้ชีวิตของตนได้ผ่านการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ และสามารถที่จะบูรณาการตนเองเข้ากับชุมชนใหม่ของตน ในขณะเดียวกัน ทาง Shelanu ก็ต้องการให้ชุมชนต่างๆ ในเบอร์มิ่งแฮมได้รับประโยชน์จากความหลากหลายด้านต่างๆ ของกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้เช่นกัน  Shelanu ให้การสนับสนุนด้วยการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เสริมสร้างความมั่นใจ การรับมือกับความโดดเดี่ยว การรับมือกับความคิดอคติ และการสนับสนุนในการปรับตัวและบูรณาการตนเองกับสิ่งแวดล้อมใหม่  Shelanu ดำเนินงานข้างต้นผ่านการจัดการอบรบเชิงปฏิบัติการกับโรงเรียน ผู้ใหญ่ เด็ก และครอบครัว การผลิตและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อัญมณีซึ่งถูกออกแบบภายใต้เรื่องราวของการอพยพและเมืองเบอร์มิ่งแฮม นอกจากนั้น ยังดำเนินงานผ่านการจัดซื้อจัดจ้างทั้งจากทางภาครัฐและภาคเอกชน

GLL

GLL เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้การบริการชุมชนและพื้นที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน โดยการทำให้ผู้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการกิจกรรมสันทนาการและการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายในราคาที่ทุกคนสามารถจ่ายได้

GLL เป็นกิจการเพื่อสังคมที่บริหารศูนย์ออกกำลังกายในสหราชอาณาจักรแห่งแรกที่รับเครื่องหมาย Social Enterprise Mark และรางวัล Prime Minister’s Big Society Award

ศูนย์กีฬาทางน้ำ  London Aquatics Centre ภายในสนามกีฬาโอลิมปิก เป็นหนึ่งในศูนย์ออกกำลังกายที่  GLL เข้ามาบริหารในลักษณะกิจการเพื่อสังคม  โดยศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งนี้มีประกอบด้วยสระว่ายน้ำจำนวน 3 สระ ได้แก่ สระสำหรับการแข่งขัน สระสำหรับการฝึกซ้อม และสระสำหรับการแข่งขันกระโดดน้ำ นอกจากนั้น ยังมีฟิตเนสเซ็นเตอร์ และสระกระโดดน้ำโดยใช้โฟมแทนน้ำสำหรับนักกีฬากระโดดน้ำทุกระดับ

Coin Street Community Builders

CSCB เป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพื้นที่รอบๆ ให้กลายเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย การทำงาน และสำหรับเยี่ยมชม  โดยการพลิกโฉมพื้นที่ 13 เอเคอร์ เป็นที่อยู่อาศัย ร้านค้า แกลลอรี่ ร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ ตลอดจนสวนสาธารณะและทางเดินริมแม่น้ำเทมส์ นอกจากนั้น ยังมีสถานที่และอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย มีการจัดงานเทศกาลต่างๆ CSCB ยังมีบริการรับเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน การสนับสนุนครอบครัว การเรียนรู้ และโครงการสนับสนุนกิจการ สำหรับรายได้ของทาง CSCB  นั้น มีมาจากหลายช่องทาง เช่น ค่าเช่าพื้นที่ในการจัดงานต่างๆ การให้บริการห้องและสถานที่ในการจัดการประชุม และค่าบริการในการให้คำปรึกษา

Fikay

Fikay เป็นแบรนด์แฟชั่นที่ได้รางวัลมากมาย โดย Fikay นั้นมิใช่เพียงแค่ต้องการที่จะผลิดเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ มีสไตล์ หรือมีความหมายแค่นั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญกับคนและสถานที่ที่อยู่เบื้องหลังในการผลิตงานแต่ละชิ้น โดยรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทาง Fikay คือการเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับผู้คนทั่วโลก

Fikay ปรับเปลี่ยนชีวิตของผู้คน เช่น การให้ความรู้แก่หญิงหม้าย ผู้ทุพพลภาพ ในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถก้าวพ้นความยากจน Fikay จัดหาจักรเย็บผ้า เงินกู้ขนาดเล็ก ตลอดจนการฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งผู้คนเหล่านี้จะมีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในชุมชนของตน ในสหราชอาณาจักรนั้น Fikay จัดอบรมและสร้างงานให้กับผู้ที่มีปัญหาในการเรียนรู้อย่างรุนแรงผ่านการถ่ายโอนความรู้และทักษะ การฝึกอบรมด้านแฟชั่นเชิงผู้ประกอบการ ตลอดจนประสบการณ์ในการทำงานที่ได้รับค่าตอบแทน

Livity

Livity เป็นเอเยนซี่ด้านการตลาดสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีลูกค้าที่มีชื่อเสียงมากมายมาใช้บริการ เช่น บริษัท Google Public Health England, Channel 4, NSPCC, the Big Lottery Fund และธนาคาร Barclays  Lavity ทำงานกับเยาวชนทุกวัน ซี่งเป็นเยาวชนที่ได้รับการฝึกอบรม อุปกรณ์ การสนับสนุน และโอกาสในการสร้างอนาคตที่สดใสของตน

Belu

Belu เริ่มธุรกิจด้วยแนวคิดแบบเรียบง่ายที่ว่ามีรูปแบบในการดำเนินธุรกิจที่ดีกว่าด้วยการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และก็นำผลกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจมาสนับสนุนโครงการน้ำดื่มสะอาด

Belu ได้รับรางวัลธุรกิจที่มีจริยธรรมและเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแนวหน้าที่ผลิตน้ำแร่ธรรมชาติบรรจุขวดรสชาติเยี่ยม และจัดจำหน่ายในสถานที่พิเศษต่างๆ Bulu ให้ความใส่ใจในทุกกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ รูปแบบในการดำเนินธุรกิจของ Belu นั้น มิได้แค่ขับเคลื่อนด้วยเงิน แต่ยังมีเรื่องของผลกระทบต่อโลกของเราด้วย 

Belu สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่ชื่อ WaterAid โดยบริจาคผลกำไรทั้งหมดที่ได้ให้กับหน่วยงานนี้ โดย Belu  ได้ให้คำมั่นที่จะบริจาคเงินเป็นจำนวน 1 ล้านปอนด์ ภายในปี 2020  แต่ในปัจจุบัน พบว่า  Belu  นั้นได้ให้การสนับสนุนเงินไปกว่า 1.5  ล้านปอนด์ ซึ่งมี่ส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแอฟฟริกามากว่า 1 แสนคน

Whitmuir Farm

Whitmuir Farm เป็นโครงการเกษตรกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งของสหราชอาณาจักร ได้เริ่มโครงการ Farm Supporters ตั้งแต่ปี 2549 และมีสมาชิกกว่า 250 คนในปัจจุบัน แต่ละเดือน Farm Supporters จะจ่ายเงินเข้าบัญชีของตนที่อยู่กับฟาร์ม และสามารถใช้เงินนี้ซื้อของในร้าน ออนไลน์ ในร้านอาหาร และกิจกรรมของฟาร์มได้ โดยทางฟาร์มจะสรุปยอดที่แต่ละคนจ่ายเข้าบัญชี เงินที่ใช้ไป และยอดคงเหลือทุก 2 เดือน

Neilston Development Trust

NDT เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ตั้งขึ้นโดยคนในท้องถิ่น เพื่อชุมชนและคนของ Neilston เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนของชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งและอนาคตที่ยั่งยืนให้กับชุมชนของตนเอง

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว NDT ร่วมกับ Carbon Free Developments ได้บรรลุข้อตกลงกับ Coop Bank เพื่อสร้าง Community Windfarm มูลค่า 15.6 ล้านปอนด์ การร่วมมือนี้ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ของสกอตแลนด์ คาดการณ์ว่าตลอดอายุ 25 ปีของฟาร์มกังหันลม จะสร้างเงินจำนวนหลายล้านปอนด์เพื่อพัฒนาชุมชนและสร้างความยั่งยืนโดยคนท้องถิ่นเอง

New Lanark

New Lanark เป็นแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาเป็นชุมชนมีชีวิต ดึงดูดผู้เข้าชมจากทั่วโลก  มีศูนย์นักท่องเที่ยวที่เล่าเรื่องราวอันน่าประทับใจเกี่ยวกับชุมชนฝ้ายซึ่งถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 

หลังจากนั้นได้เป็นที่รู้จักภายใต้การบริหารงานของนักปฏิรูปทางสังคม Robert Owen เขาสร้างบ้านที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ให้ค่าจ้างที่เป็นธรรม ให้บริการสาธารณสุขโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ให้ระบบการศึกษาแบบใหม่แก่คนในชุมชน และจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอนุบาลในสถานที่ทำงานเป็นโรงเรียนแรกของโลก 

Registration of Community Interest Companies (CICs)

รูปแบบการจดทะเบียน Community Interest Companies (CICs) 

ในเดือนกรกฎาคม 2005 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอังกฤษ (UK Department for Trade and Industry) อนุมัตินิติบุคคลรูปแบบใหม่สำหรับกิจการเพื่อสังคม เรียกว่า "บริษัทเพื่อประโยชน์ชุมชน" (community interest company หรือ CIC) นับเป็นนิติบุคคลรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี และเงื่อนไขพิเศษของ CIC ที่ผนวกโครงสร้างแบบบริษัทเอกชนเข้ากับเป้าหมายแบบเอ็นจีโอ เพื่อเอื้อให้กิจการเพื่อสังคมสามารถระดมทุนได้มากขึ้น และทำให้องค์กรมูลนิธิสามารถหารายได้ 

โดยสาระสำคัญขององค์กรในรูปแบบ CICs มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่

  1. การควบคุมการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของบริษัท (Asset Lock) ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชน 
  2. การจำกัดเงินปันผล (Dividend Interest Cap) องค์กรสามารถทำกำไรได้แต่กำไรส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาชุมชนหรือองค์กร 

CICs เป็นการจดทะเบียนแบบบริษัทจำกัด ภายใต้ Companies Act 2006 ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่ 

  • Company Limited by Shares เป็นรูปแบบขององค์กรที่มีผู้ถือหุ้น แต่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ไม่เกิน 35% สามารถเป็นได้ทั้ง Private Company หรือ Public Company 
  • Company Limited by Guarantee เป็นรูปแบบองค์กรที่ไม่มีผู้ถือหุ้น/เจ้าของ ดังนั้น จึงไม่มีการแบ่งเงินปันผล 

หน่วยงานที่ดูแลการจดทะเบียนและการรายงานของผลการดำเนินงานรายปีของ CICs คือสำนักนายทะเบียนนิติบุคคล (Companies House) ภายใต้กระทรวงภาคส่วนธุรกิจ (Department for Business, Innovation and Skill: BIS) โดยในปัจจุบันมีองค์กรที่เข้ำมาจดทะเบียนในรูปแบบ CICs กว่า 6,000 องค์กร โดยส่วนมากจะเป็นองค์กรในภาคส่วนดั้งเดิมใน Third Sector เช่น การบริการสาธารณสุขและชุมชน การศึกษาเป็นต้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีองค์กรในธุรกิจกระแสหลักเข้ามาจดทะเบียนในรูปแบบ CICs เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การเงิน และการบริการต่างๆ โดยอัตราเฉลี่ยในการจดทะเบียนในรูปแบบ CICs เดือนละกว่า 100 องค์กร จึงนับว่า CICs เป็นภาคส่วนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดของภาคส่วนธุรกิจอื่นๆ ในประเทศอังกฤษ