Study UK Alumni Awards ประจำปี 2020

รางวัลอันทรงเกียรติสำหรับศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรจากประเทศไทยเมื่อกลุ่มนักศึกษาได้รับโอกาสในการเล่าเรียนที่สถาบันการศึกษาชั้นนำต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร ผลลัพธ์ของความสำเร็จเหล่านั้นจะคงอยู่ตลอดไป งานประกาศรางวัล Alumni Awards เป็นอีกงานหนึ่งที่จะตอกย้ำถึงความสำเร็จของเหล่าศิษย์เก่าในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่ต่างล้วนมีจุดเริ่มต้นเดียวกันคือการได้รับแรงบันดาลใจจากการเรียนในสหราชอาณาจักร 

การพิจารณารางวัลจะแบ่งอกเป็นสามประเภท คือ Professional Achievement, Entrepreneurial และ Social Impact

  • Professional Achievement Award เป็นรางวัลที่มอบสำหรับศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรที่มีความโดดเด่นด้านการเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จหรือผู้ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกในสาขาอาชีพของตนเอง
  • Entrepreneurial Award เป็นรางวัลที่มอบสำหรับศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรที่คิดค้น ริเริ่มแนวคิดนวัตกรรมใหม่ หรือแนวทางและโอกาสทางธุรกิจอย่างแตกต่างที่มาพร้อมกับศักยภาพที่จะเติบโตอย่างมั่นคง
  • Social Impact Award เป็นรางวัลที่มอบสำหรับศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรที่มีส่วนร่วม หรือมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคม รวมถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม

สิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น :

  • มีโพรไฟล์ส่วนบุคคลซึ่งจะได้รับการนำเสนอในสื่อระดับนานาชาติ รวมถึงสื่อดิจิทัลต่าง ๆ
  • โอกาสในการสร้างเครือข่ายทางระดับมืออาชีพ และเครือข่ายทางธุรกิจ
  • เงินรางวัล 50,000 บาท สำหรับการพัฒนาเชิงวิชาชีพ และร่วมรับประทานอาหารกลางวันสุดพิเศษ 

รู้จักกับ 12 ผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ เเละผู้ชนะ

Professional Achievement Award

ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่ม

MSc in Health Economics, University of York

PhD in Public Health and Policy at London School of Hygiene and Tropical Medicine

ผู้ชนะ PROFESSIONAL ACHIEVEMENT AWARD 

ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขและรักษาการที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมามีบทบาทในการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์สาธารณสุข เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพและเท่าเทียม อาทิ การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ กว่า 600,000 ตามแนวชายแดน การเข้าถึงยาและการรักษาที่มีราคาแพง เช่น มะเร็ง หัวใจ จิตเวช การปฏิรูประบบการแพทย์ปฐมภูมิให้คนไทยทุกคนมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแล การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 (ด้านสาธารณสุข) พ.ศ. 2561-2580 การยกระดับคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ การลดหย่อนภาษี 2 เท่าสำหรับบุคคลหรือองค์กรที่บริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลของรัฐ เป็นต้น การศึกษาที่มหาวิทยาลัยยอร์คและสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนในสหราชอาณาจักร ได้ให้ความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนทักษะวิธีคิดอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและนโยบายสาธารณสุข ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานสาธารณสุขของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน ดร.นพ.พงศธร กำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบายด้านผู้สูงอายุ การนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในระบบสาธารณสุข และการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่

 

 

Entrepreneurial Award

ดร. ธีรพงศ์ ยะทา

Imperial College London

MSc in Molecular Medicine and a PhD in Clinical Medicine Research

ผู้ชนะ ENTREPRENEURIAL AWARD 

ดร. ธีรพงศ์ มีผลงานมากมาย ที่มีความโดดเด่นในวงการวิชาการ รวมถึงเป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างนวัตกรรมทางด้านสัตวแพทย์ โดยได้รับรางวัลต่างๆ มากมายจากเวทีแข่งขันนวัตกรรมระดับนานาชาติหลายรางวัล และมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรจำนวนหลายรายการ รวมไปถึงผลงานวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอีกหลายผลงาน ซึ่งล้วนเกี่ยวกับ การพัฒนาระบบนําส่งโดยใช้นาโนเทคโนโลยีในการนําส่งแบบมุ่งเป้าประสิทธิภาพสูง ของยา วัคซีน ชีววัตถุและสารออกฤทธิ์ชีวภาพจากสมุนไพร เพื่อผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยาและวัคซีนสําหรับป้องกันและรักษาโรคในคนและสัตว์ หนึ่งในตัวอย่างผลงานที่มีความโดดเด่นที่ ดร. ธีรพงศ์และทีมวิจัยที่ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ได้แก่ การพัฒนาวัคซีนสำหรับปลาเศรษฐกิจ โดยอาศัยระบบตัวพานาโนเทคโนโลยี ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้การให้วัคซีนปลาสามารถทำแบบแช่ได้ ซึ่งทำได้ง่าย สะดวก ประหยัดเงินและเวลา ทำได้กับปลาทีละจำนวนมากๆ ไม่ทำให้ปลาบาดเจ็บหรือบอบช้ำ โดยนาโนวัคซีนดังกล่าวถูกพัฒนาจนสามารถทดแทนการให้วัคซีนแบบดั้งเดิมที่ต้องฉีดปลาทีละตัวได้ โดยให้ผลในการป้องกันโรค ลดความเสียหายที่เกิดจากการติดเชื้อในปลาเศรษฐกิจสำคัญของไทย เช่น ปลานิล

 Imperial College London ไม่เพียง แต่ช่วยให้เขาเติบโตขึ้นในฐานะนักวิทยาศาสตร์แต่ Imperial Ecosystem ซึ่งเป็นสังคมการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีการทำงานร่วมกันแบบสหวิชา ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ทั้ง วิศวกร แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้ธีรพงศ์ กลายเป็นนักนวัตกร ที่มีความเป็นผู้ประกอบการ รู้จักคิดค้น ริเริ่มแนวคิดนวัตกรรมใหม่ หรือแนวทางและโอกาสทางธุรกิจอย่างแตกต่าง

นอกจากนี้ ดร. ธีรพงศ์ ยังปรารถนาที่จะมีบทบาทในการสร้างกำลังคนของประเทศไทยในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีหัวใจของผู้ประกอบการ ในลักษณะเดียวกันกับการศึกษาในสหราชอาณาจักรที่ได้ช่วยหล่อหลอมเขาขึ้นมาในวันนี้

Social Impact Award Category

ศิรษา บุญมา

Goldsmiths University of London

Creative and Cultural Entrepreneurship (Music Pathway)

ผู้ชนะ SOCIAL IMPACT AWARD 

ศิรษา บุญมา เป็นผู้ก่อตั้ง Hear & Found องค์กรเพื่อสังคมสร้างสรรค์ มุ่งหวังที่จะลบการแบ่งแยกออกจากสังคม โดยเฉพาะการแบ่งแยกของกลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศไทย งานของศิรษาช่วยเชื่อมโยงกลุ่มคนต่าง ๆ โดยช่วยเปลี่ยนการรับรู้และบรรลุความเท่าเทียมกันทางสังคมสำหรับคนกลุ่มชายขอบด้วยความคิดสร้างสรรค์

ศิรษาเชื่อว่า Goldsmiths University of London ได้ช่วยให้เธอมีทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการและความคิดที่จะกลายเป็นคนที่สามารถทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

ตอนนี้เธอใช้ความเชี่ยวชาญของเธอเพื่อเพิ่มการยอมรับจากกลุ่มคนที่หลากหลายทางวัฒนธรรมด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการเพิ่มการรวมความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์