พุธ 18 มีนาคม 2020

ศิลปะในการพูดสามารถสร้างมูลค่าให้กับผลงานได้มากพอ ๆ กับผลิตภัณฑ์ การนำเสนอที่ดีจะช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับผลงานอย่างที่ไม่มีใครเหมือน และความสามารถดังกล่าวไม่ได้มีประโยชน์ เพียงแค่ในวงการธุรกิจเท่านั้น แต่ในวงการวิทยาศาสตร์ ก็ต้องการนักวิทย์ที่มีความสามารถในการพูด การนำเสนอ และการสื่อสารที่ดีด้วย เช่นกัน

ซึ่ง "เฟมแล็บ ไทยแลนด์" ถือเป็นเวทีที่ส่งเสริมทักษะการพูด การนำเสนอ ของกลุ่มนักวิจัย และบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์ โดยปีนี้ บริติช เคานซิล ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และทรู คอร์ปอเรชั่น จัด "เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2020" (FameLab Thailand 2020) ขึ้น เพื่อค้นหาตัวแทนนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย เป็นตัวแทนในการแข่งขันในงานเทศกาลวิทยา ศาสตร์ระดับโลก ณ สหราชอาณาจักร

โดยในปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้ "ณภัทร ตัณฑิกุล" นักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ เป็นแชมป์"เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2019" ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีสุดล้ำในหัวข้อ "ผลิตเนื้อสัตว์ในห้องแล็บ อาหารแห่งอนาคต" และได้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับโลก

เส้นทางการแข่งขันทั้งในไทยและที่สหราชอาณาจักร "ณภัทร ตัณฑิกุล"  หรือจัสท์ เล่าว่า ได้พบกับเพื่อนผู้เข้าแข่งขัน และผู้เชี่ยวชาญในวงการวิทยาศาสตร์มากมาย ที่มีอุดมการณ์การผลักดันผลงานวิจัย และมีความสามารถในการนำเสนอผลงานได้อย่างโดดเด่น อีกทั้งได้เรียนรู้วิธีการบอกเล่าเรื่องราววิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจจากคนเก่ง ๆ เหล่านั้น

นอกจากนี้  ยังได้รับโอกาสมากมายที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็น การได้ร่วมงานกับบริษัทที่ใฝ่ฝันในสหรัฐอเมริกา "เมมฟิส มีท" (Memphis Meats) บริษัทที่ทำงานด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากเซลล์ (Cell-based meat) เพื่อการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นบริษัทแรกของโลกที่สามารถผลิต มีทบอล เนื้อไก่ และเนื้อเป็ดจากเซลล์ได้

จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานเก่ง ๆ จากหลากหลายชาติ ทำให้ค้นพบว่านักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง และมีอนาคตไกล ต้องมีคุณสมบัติ 4 ข้อนี้ คือ 1.กล้าที่จะสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ 2.รักการสื่อสาร และทำงานเป็นทีม นำเสนอผลงาน หรือไอเดียให้กับทีมงานสู่สาธารณะได้อย่างโดดเด่น 3.กล้าลงมือทำ และ 4.รักและหลงใหลในงานที่ทำ มุ่งมั่น อดทน ตั้งใจ ไม่ล้มเลิกง่าย ๆ

คุณสมบัติทั้ง 4 ข้อนี้ จะทำให้ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริง ไม่ใช่งานวิจัยที่อยู่แค่ในห้องแล็บ

"จัสท์" ยัง เผยเทคนิค 5 ข้อ ในการพรีเซ็นต์ผลงานวิจัย หรือเรื่องราววิทยาศาสตร์ภายใน 3 นาที อย่างไรให้สนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย ซึ่งเทคนิคเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดในโครงการเฟมแล็บ ตลอดจนคนทั่วไปที่อยากเพิ่มทักษะด้านการพูดนำเสนอและการสื่อสาร

โดย เทคนิค 5 ข้อ คือ 1.การเลือกหัวข้อที่เราอิน และเข้าใจอย่างแท้จริง  2.การตีจุด pain point ชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ 3.สคริปต์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง 4.การสร้างภาพจำ และ 5.ซ้อม ซ้อม และ ซ้อม! นอกจากเทคนิคดังกล่าวแล้ว แชมป์เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2019 บอกว่าให้ลองฝึกซ้อมกับคนใกล้ตัว และรับฟีดแบ็กมาพัฒนาตัวเอง

"นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ นอกจากเก่งในเรื่องวิชาการแล้ว ยังต้องเก่งเรื่องการนำเสนอ หรือเรียกได้ว่ามีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักขายในตัว  เวทีเฟมแล็บ ไทยแลนด์ เป็นโอกาสอันดีที่เหล่านักวิทยาศาสตร์จะได้บอกโลกว่าเรากำลังพัฒนาสิ่งเล็ก ๆ ที่อาจจะยิ่งใหญ่ในอนาคต อีกทั้งเป็นการได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ นอกจากพัฒนางานวิจัยอยู่ในห้องแล็บ แต่ได้ลองออกมาจับไมค์และบอกเล่าเรื่องราวให้คนทั่วไปได้รับรู้ และอินไปกับผลงานของเรา สำหรับจัสท์ การตัดสินใจเข้าประกวดในโครงการเฟมแล็บ ถือเป็นการก้าวออกมาจากคอมฟอร์ตโซนที่คุ้มค่า และทำให้ได้รับโอกาสที่ล้ำค่าตามมามากมาย".